มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล

ท่านองคมนตรี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข (รองประธานมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล)
เป็นประธานในพิธีเปิด“โครงการสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล (โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ)”ภายใต้ศูนย์ประสานงานหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ส่วนกลาง (กรมการแพทย์)

          เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม  2566 เวลา 10.30 น. ท่านองคมนตรี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข(รองประธานมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล)เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิด“โครงการสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล (โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ)”ภายใต้ศูนย์ประสานงานหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ส่วนกลาง (กรมการแพทย์) ณ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายสำรวย เกษกุล) กล่าวต้อนรับ และรองอธิบดีกรมการแพทย์ (นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช) กล่าวรายงานกิจกรรมโครงการ  โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายสุรศิษฐ์ อินทกรอุดม) รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล(นายกำพล สิริรัตตนนท์) ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 (นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ (นายแพทย์พิเชฏฐ์ จงเจริญ) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา (นายแพทย์พัฒนศักดิ์  ทั่งนาค) คณะผู้บริหารกรมการแพทย์ รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ 

          ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนจำนวน 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนา ในทศวรรษที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2560-2569 โดยตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ให้มีอัตลักษณ์เดียวกันคือ “เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล” โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

  1. น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 
  2. พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ คือ การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย การจัดระบบบริการสุขภาพการพัฒนาคน และระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม
  3. ออกแบบสถาปัตยกรรมและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลให้ร่มรื่น สะอาด เพื่อบริการแก่ประชาชน
  4. พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงพยาบาล รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของชุมชนในพื้นที่และมูลนิธิของโรงพยาบาล

สำหรับการดำเนินโครงการในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับโรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพให้สามารถดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่ซับซ้อน และการแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆตามที่กรมการแพทย์รับผิดชอบ โดยจะมีทั้งการสนับสนุนวิชาการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา และโรงพยาบาลเครือข่ายเพื่อเข้ารับการอบรมเฉพาะทางในสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และการจัดหน่วยบริการทางการแพทย์เฉพาะทางให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอเบญจลักษณ์และพื้นที่ใกล้เคียง ให้สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่ซับซ้อนและการแพทย์เฉพาะทางอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

โครงการดังกล่าวนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์และมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล โดยมีศูนย์ประสานงานหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลส่วนกลาง (กรมการแพทย์) เป็นผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เฉพาะทางอาสาแก่โรงพยาบาลที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินโครงการ ดังนี้

    1. การสนับสนุนวิชาการในสาขาเฉพาะทาง จำนวน 2 สาขา ได้แก่
      1. สาขาการดูแลผู้สูงอายุ : มีการถ่ายทอดความรู้เรื่อง “การจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาล” และ“การประเมินภาวะสมองเสื่อมและภาวะหกล้มในผู้สูงอายุ” ให้กับผู้รับผิดชอบงานคลินิกผู้สูงอายุของโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษ  รวมถึงเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และ อสม. ในอำเภอเบญจลักษ์  จำนวน 110 คน
      2. สาขาโรคผิวหนัง : มีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ “โรคทางผิวหนังและการดูแลรักษาโรคทางผิวหนัง” ให้แก่ สหสาขาวิชาชีพ และพยาบาล จำนวน 30 คน
    2. การจัดหน่วยบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง : ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอเบญจลักษ์ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่ซับซ้อน จำนวน 4 สาขา มีผู้เข้ารับบริการ จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย  ดังนี้
      1. สาขาฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ : มีการมอบอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่ผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับเครื่องช่วยความพิการ และผ่านการประเมินจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  จำนวน 9 ราย
      2. สาขาจักษุวิทยา : มีการมอบแว่นสายตาให้กับผู้สูงอายุรายใหม่ที่สายตาเริ่มมองไม่เห็นและผ่านการตรวจคัดกรองสายตาขั้นพื้นฐานแล้วจากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จำนวน 14 ราย  
      3. สาขาโรคมะเร็ง : มีการจัดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี ให้แก่ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 54 ราย
      4. สาขาโรคผิวหนัง  มีการบริการตรวจโรคผิวหนัง แก่ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เช่น สะเก็ดเงิน ผื่นเรื้อรัง จำนวน 57 ราย

          การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนบุคลากรแพทย์จากโรงพยาบาล/ สถาบันเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์ ประกอบด้วย สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ/ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ/ โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี/ สถาบันโรคผิวหนัง/ และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รวมถึงคณะทำงานสังกัดกรมการแพทย์ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่  โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ