มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล

ประวัติมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล

ความเป็นมา

            เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกหน่วยแพทย์พระราชทาน ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่ลองและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่แจ่มได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ พร้อมถวายรายงานเกี่ยวกับการให้บริการของโรงพยาบาลแม่แจ่มให้ทรงทราบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีเตียงไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ในส่วนของผู้ป่วยนอก มีผู้ป่วยเข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นมากถึง 350 คนต่อวัน ซึ่งแต่เดิมโรงพยาบาลมีพื้นที่ที่สามารถรองรับการให้บริการผู้ป่วยประมาณ 100 คนต่อวัน นับเป็นความเดือดร้อนของผู้ป่วยและญาติ โรงพยาบาลแม่แจ่มเดิมเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ได้รับการยกฐานะมาเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เมื่อ พ.ศ. 2529 แต่ตามความเป็นจริงมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 30 เตียงต่อวันมาเป็นเวลา 8 ปี แม้จะมีการต่อเติมให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ ประกอบกับโรงพยาบาลมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่เศษ และตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน จึงไม่สามารถก่อสร้างขยายพื้นที่เพิ่มเติมได้

               เมื่อความทุกข์ยากลำบากของประชาชนชาวแม่แจ่มได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อก่อสร้างอาคารพระราชทานผู้ป่วยใน จำนวน 2 หลัง และกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่แห่งใหม่ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิม 1 กิโลเมตร พื้นที่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ที่ดินราชพัสดุ เดิมเป็นสถานีขยายพันธุ์พืช และอีกส่วนเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมพื้นที่ 90 ไร่ การก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2557 และทรงพระราชทานชื่อโรงพยาบาลแห่งใหม่ว่า “โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา” พร้อมกับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาลฯ และพระราชทานชื่ออาคารผู้ป่วยในพระราชทาน ว่า “อาคารพระราชทาน 7 และ อาคารพระราชทาน 8” 

        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่าการทำโรงพยาบาลควรจัดตั้งมูลนิธิสนับสนุนจะสะดวกคล่องตัว ในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 โดยได้รับพรพมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ โดยแรกเริ่มมีวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ดังนี้
                1.  เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้ป่วยโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความเดือนร้อน
         2. เพื่อทำการศึกษา วิจัย และบูรณะซ่อมแซมอาคารพระราชทาน และปรับปรุงดูแลรักษาภูมิทัศน์โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
                3. เพื่อจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
                4. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

             ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับโรงพยาบาลวัดจันทร์ เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ให้อยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิฯ และให้มีการจัดหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ออกให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการในเมือง (มติที่ประชุมสามัญมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล วันที่  27 กรกฎาคม 2558)

              ต่อมาในปีพ.ศ. 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล สนับสนุนโรงพยาบาลชุมชน เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรเพิ่มอีก 9 แห่ง ได้แก่
               1. โรงพยาบาลพนมดงรักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
               2. โรงพยาบาลเบญจลักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
               3. โรงพยาบาลนาวัง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู
               4. โรงพยาบาลพระทองคำ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราสีมา
               5. โรงพยาบาลเสาไห้ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี
               6. โรงพยาบาลห้วยกระเจา เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
               7. โรงพยาบาลเขาชะเมา เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง
               8. โรงพยาบาลยี่งอ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
               9. โรงพยาบาลหาดสำราญ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่มูลนิธิ ฯ สนับสนุนทั้งสิ้น 11 แห่ง

               เนื่องจากมีการรับโรงพยาบาลชุมชน เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรเพิ่ม จึงได้มีการแก้ไขวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพิ่มเติม ดังนี้
               1. เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้ป่วยโรงพยาบาลที่มีความเดือนร้อน
               2. เพื่อทำการศึกษา วิจัย และบูรณะซ่อมแซมอาคารพระราชทาน และปรับปรุงดูแลรักษาภูมิทัศน์โรงพยาบาล
               3. เพื่อจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาล
               4. มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลและกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกันดำเนินการช่วยงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
               5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด